วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2556

เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว

   ลวดลายที่ปรากฏตามขอบโลหะสีทองขนาดเล็ก หลากลีลา หลายรูปแบบ อิงแอบกับความเป็นธรรมชาติ จัดเป็นหัตถกรรมล้ำค่าที่ผสานมากับวิถีชีวิตแห่งฝูงชน ผลิตผลทางภูมิปัญญาที่น่าภาคภูมิใจอันได้แก่ ลูกกระพรวน ซิงพลู ผอบ ขันน้ำ ตะบันหมาก ฯลฯ เหล่านี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นจนเป็นที่รู้จักกันดีในนาม "เครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว"
        บ้านปะอาว ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่มีจำนวนประมาณ 400 ครอบครัว ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีไปตามทางหลวงสายอุบลราชธานี-ยโสธร ประมาณ 17 กิโลเมตร และมีทางแยกจากถนนใหญ่ด้านขวามือถึงบ้านปะอาวประมาณ 3 กิโลเมตร ตามประวัติของหมู่บ้านได้รับคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า บรรพบุรุษแรก ๆ อพยพมาจากจังหวัดหนองบัวลำภูนานกว่า 260 ปี มาแล้ว อาชีพช่างฝีมือชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงของชาวบ้านปะอาวคือ การหล่อเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ด้วยทองเหลือง ซึ่งพวกช่างได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ 
        กรรมวิธีการทำเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาวไม่ได้มีสูตรจำเพาะที่เขียนขึ้นเป็นตำรา แต่เป็นเพียงการสังเกตและจดจำต่อกันมารุ่นต่อรุ่นเท่านั้น เอกลักษณ์โดดเด่นอันเป็นลักษณะเฉพาะของการทำเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาวคือ วิธีการหล่อในแบบที่เรียกว่าขี้ผึ้งหาย หรือ แทนที่ขี้ผึ้ง การหล่อแบบนี้เป็นกระบวนการหล่อโลหะที่มีมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตรที่มีเสน่ห์และคุณค่าทางมรดกทางวัฒนธรรม์ ซึ่งนับวันจะหายากขึ้นทุกขณะ 
        การหล่อเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาวนี้ เป็นการหล่อโลหะผสมที่ได้จากเศษทองแดง ทองเหลือง ตะกั่ว สังกะสี และอื่นๆ มีขั้นตอนการหล่อ ตามคำบอกเล่าของพ่อใหญ่ทอง ล้อมวงศ์ ช่างหล่อทองเหลืองบ้านปะอาว ดังนี้
        1. การปั้นแม่พิมพ์
ขั้นตอนนี้ คือการปั้นหุ่นของแบบที่ต้องการหล่อหรือผลิตนั่นเอง โดยนำดินโพน (จอมปลวก) อันเป็นดินละเอียดที่หาได้ในเขตบริเวณบ้านปะอาว มาตำผสมกับขี้วัว (มูลวัว) ในสัดส่วนประมาณ 3 : 1 แล้วตำให้เข้ากัน เพื่อเพิ่มคุณสมบัติที่เหนียว เกาะตัวได้ดี และมีความแกร่ง เหมาะแก่การนำไป "เซี่ยน" (กลึง) และเมื่อเผาไฟแล้วจะแกะจากแม่พิมพ์ได้ง่าย
        เมื่อตำ "ดินโพน" ผสมกับขี้วัวจนเข้ากันละเอียดเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว จึงนำไปปั้นหุ้มรอบแกนไม้ที่กลึงเป็นรูปทรงและขนาดต่างๆ ตามตัวแบบที่ต้องการ นำแม่พิมพ์ที่ปั้นแล้วไปตากแดดประมาณ 3-4 วัน เมื่อพิมพ์แห้งแล้วจึงนำไปใส่โฮงกลึงเพื่อกลึงหุ่นให้ได้ขนาดและรูปทรงที่ต้องการ ลักษณะการกลึงต้องอาศัยช่าง 2 คน คนหนึ่งเป็นคนดึงเชือกซึ่งพันอยู่กับไม้หมอนเพื่อให้หุ่นดินหมุน อีกคนทำหน้าที่กลึงโดยใช้เหล็กกลึง หรือไม้เหลาปลายแหลมติแต่งลวดลายตามที่ต้องการ หุ่นที่ผ่านการกลึงจะได้รูปทรงและขนาดที่พอเหมาะ ที่สำคัญผิวหุ่นจะเรียบเนียน


ตำดินเหนียวและมูลวัวเข้าด้วยกันปั้นดินให้เป็นรูปตามต้องการ
        2.อุปกรณ์ปั้นแม่พิมพ์ ประกอบด้วย
1. ดินโพน (จอมปลวก) และมูลวัวใช้ผสมดินจอมปลวก
2. มอนน้อย (เครื่องกลึงเล็ก) สำหรับกลึงพิมพ์ ประกอบด้วยชิ้นส่วนง่ายๆ ที่ผลิตขึ้นใช้เอง ดังนี้
        2.1 โฮงเซี่ยน หรือ โฮงกลึง มีลักษณะเป็นไม้โค้งวางง้ำลงดิน 1 คู่
        2.2 ไม้เหยียบ เป็นไม้กลมปลายแหลม ยึดโฮงเซี่ยน
        2.3 ไม้มอน เป็นไม้กลมขนาดเท่านิ้วก้อย เป็นแกนกลึงยึดโฮงเซี่ยน
        2.4 เหล็กเซี่ยน หรือเหล็กกลึง สำหรับกลึงพิมพ์ดิน
        2.5 เชือกดึง สำหรับพันเข้ากับไม้มอน แล้วดึงกลับไปกลับมาเวลากลึง
3. บั้งเดียก ทำจากไม้ไผ่กลวง มีกิ่งยื่นที่ปลายกระบอก สำหรับเป็นมือจับปลายกระบอกที่เป็นข้อของไม้ไผ่ เจาะรูตามขนาดที่ต้องการ กรุด้วยแผ่นโลหะ
4. สาก นิยมทำมาจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ลำดวน สำหรับอัดขี้ผึ้งในบั้งเดียกให้ออกเป็นเส้นขี้ผึ้ง
5. ลูกกลิ้ง ใช้สำหรับทำลวดลาย
6. อุปกรณ์ในการหลอมขี้ผึ้ง ประกอบด้วย กระทะ เตา ไม้พาย
7. พิมพ์ หรือแท่นพิมพ์ลวดลาย นิยมใช้เขาควายเป็นแท่นพิมพ์
8. ขี้ผึ้งและส่วนผสม ประกอบด้วยชันและขี้สูด (ขี้สูด-ยางไม้ชนิดหนึ่ง เป็นส่วนผสมทำให้ขี้ผึ้งเหนียว)
9. โลหะที่ใช้ในการหลอม เป็นประเภททองแดง อะลูมิเนียม และทองเหลือง
10. อุปกรณ์ในการหลอมโลหะ เบ้าสำหรับหลอมโลหะ ทำด้วยดินผสมแกลบ เตา (ความร้อนสูง) มีประกอบรับอากาศเพื่อเพิ่มความร้อน
        3. การเซี่ยน
ขั้นตอน "เซี่ยน" ก็คือการกลึงนั่นเอง เมื่อหุ่นแม่พิมพ์แห้งแล้วก็จะนำไปทำการเซี่ยน หรือกลึง เพื่อตกแต่งรูปร่างตามต้องการ โดยช่างกลึง 2 คน คนหนึ่งทำหน้าที่ชักดึงเชือกที่พันอยู่กับแกนไม้ของหุ่นหรือพิมพ์ดินให้หมุน อีกคนหนึ่งทำหน้าที่กลึง หรือ เซี่ยน โดยใช้ไม้ที่เหลาปลายให้แหลม หรือไม้หนาปลายมน กลึงแต่งผิวดินให้ได้ขนาด รูปร่างตามที่ต้องการ
        4. การเอาขี้ผึ้งพันพิมพ์ หรือ หุ้มเทียน เมื่อเซี่ยนได้รูปร่างและขนาดตามต้องการแล้วช่างก็จะนำเอาขี้ผึ้งซึ่งมีส่วนผสมของขี้ผึ้งชัน และขี้สูด ตามสัดส่วน 5 : 1 : 1 โดยน้ำหนัก การทำขี้ผึ้งให้เป็นเส้นนั้น กระทำได้โดยการนำขี้ผึ้งที่ผสมชันและขี้สูดที่หลอมให้อ่อนตัสพอประมาณเทใส่ลงไปในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งปลายด้านหนึ่งมีหลอดโลหะกลวง (นิยมใช้สังกะสี) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่-เล็กตามเส้นเทียนที่ต้องการ ต่อให้ปลายสำหรับให้ขี้ผึ้งไหลออก เทขี้ผึ้งหลอมลงในกระบอกไผ่แล้วใช้ไม้เนื้อแข็งกลึงให้ได้ขนาดพอดีกับรูกระบอกไม้ไผ่ เรียกว่า "บั้งเดียก" ขี้ผึ้งผสมชันและขี้สูดที่มีความอ่อนตัวจะถูกอัด-ดันให้ไหลออกทางรูปลายกระบอกไม้ไผ่ ให้ไหลต่อเนื่องกันเป็นเส้นสั้น-ยามตามต้องการ เรียกว่า ขี้ผึ้งหรือเทียน จากนั้นก็นำเทียนขี้ผึ้งไปพันรอบพิมพ์เทียน พิมพ์ดินส่วนที่นูนมากต้องพันขี้ผึ้งให้หนา
หุ่นดินที่ตากแห้งแล้ว
นำมาตกแต่งลวดลาย
อัดขี้ผึ้งให้เป็นเส้นยาว
ด้วยบั้งเดียก

เคียนขี้ผึ้งให้รอบหุ่นดิน
        5. ขางไฟ (อังไฟ) ตกแต่ง ปั้นลาย
ในขั้นตอนนี้ เป็นการนำแม่พิมพ์ที่พันรอบด้ายเทียนขี้ผึ้งไป "ขางไฟ" เพื่อให้อ่อนตัว และตกแต่งพิมพ์ได้ง่าย บางทีต้องนำไป "เซียน" หรือกลึงตกแต่ง จากนั้นก็พิมพ์หรือแกะลวดลายต่างๆ ตามที่ต้องการลงบนแม่พิมพ์ขี้ผึ้ง 
        6. การพอกดินเหนียวรักษาลาย
จากนั้นปั้นหรือแกะลวดลายบนขี้ผึ้งแล้ว ช่างจะใช้ดินเหนียวพอกหรือห่อหุ้มรอบแม่พิมพ์อีกชั้นหนึ่ง เพื่อรักษาลวดลายไว้ โดยเปิดช่องด้านบนเอาไว้เพื่อเป็นช่องสำหรับเทโลหะที่จะหล่อลงไปแทนที่ขี้ผึ้ง เพราะขี้ผึ้งจะถูกละลายด้วยความร้อนของโลหะที่หลอม
หุ่นที่พันเส้นขี้ผึ้งแล้ว
จะนำมาตกแต่งให้เรียบ
กลึงก่อนจะพิมพ์หรือแกะลายแกะลวดลายบนขี้ผึ้งอีกครั้ง
        7.เบ้าหลอมทองเหลือง
เป็นเบ้าดินที่ทำจากส่วนผสมของดินและแกลบทนความร้อนสูงได้ดีมาก ขนาดบรรจุโลหะหลอมละลายได้ประมาณ 15 กิโลกรัม เมื่อช่างหล่อต้องการจะหล่อหลอมก็จะใช้เศษโลหะ เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม ทองเหลือง ตามสัดส่วนของแม่พิมพ์เครื่องใช้นั้นๆ เช่น ถ้าจะหลอมเต้าปูน ช่างก็จะใช้ทองเหลืองมากกว่าโลหะอื่นๆ ถ้าจะหล่อลูกกระพรวน ก็จะมีเศษเหล็กมากกว่าประเภทอื่น
เมื่อจะหลอมโลหะได้ ก็จะใส่โลหะเหล่านั้นลงไปในเบ้าหลอม แล้วนำเบ้าหลอมไปวางไว้บนเตาหลอม เป่าลมด้วยสูบเข้าไปในเตาหลอมที่มีถ่านไม้ช่วยให้ความร้อนหรืออุณหภูมิสูงขึ้น เมื่อโลหะหลอมละลายแล้ว ก็จำนำโลหะที่หลอมแล้วไปเทลงในแม่พิมพ์ (หุ่น) ที่เตรียมไว้ จากนั้นโลหะที่อุณหภูมิสูงก็จะเผาไหม้ขี้ผึ้งละลายไปในเนื้อดิน โลหะหลอมก็จะไหลเข้าไปแทนที่ขี้ผึ้ง

        8. การแกะพิมพ์
เมื่อเททองเหลืองหรือโลหะเรียบร้อยแล้ว ช่างจะปล่อยทิ้งไว้จนโลหะเย็น จึงแกะดินที่พอกพิมพ์ออก ก็จะได้ภาชนะโลหะตามต้องการ
เบ้าหรือหุ่นที่แห้งแล้วเมื่อนำมาอังไฟขี้ผึ้งภายในจะไหลออกมา เกิดช่องว่างภายใน จากนั้นเททองเหลืองที่หลอมละลายลงไปแทนที่
        9. การเซี่ยนแบบโลหะ
เมื่อแกะแบบและพิมพ์ออกแล้วหากพิมพ์โลหะผิวไม่เรียบก็จะนำรูปโลหะนั้นมาทำการ "เซี่ยน" หรือ กลึง โดยมีกรรมวิธีกระทำเช่นเดียวกับการ "เซี่ยน" พิมพ์ดินในขั้นตอนที่2 ที่กล่าวมาแล้ว
ตกแต่งรายละเอียดผลิตภัณฑ์เครื่องทองเหลืองให่สมบูรณ์แบบเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว
หัตถศิลป์สูงค่าจากภูมิปัญญาโบราณ
        การหล่อโลหะเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว เป็นงานหัตถกรรมที่ใช้ฝีมือและความชำนาญสูง งานฝีมือนี้นับวันแต่จะหดหายไปจากสังคม เพราะอนุชนรุ่นหลังไม่เห็นความสำคัญ จึงยากที่จะหาผู้เข้าไปรับการสืบทอดวัฒนธรรมการหล่อโลหะนี้






ที่มา : - คณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายจัดทำหนังสือ. อุบลราชธานี 200 ปี. กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์, 2535.
- สารานุกรมไทยภาคอีสาน เล่ม 7. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวุฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542.
- นิภาพร ทับหุ่น. เครื่องทองเหลืองหัตถศิลป์สูงค่าจากภูมิปัญญาโบราณ. กินรี 21,1 (มกราคม 2547)56-68.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น